ฟิลิปส์ เปิดตัว Philips Zenition 10
เสริมทัพพอร์ทโฟลิโอImage Guided Therapy ของฟิลิปส์
รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก เปิดตัว Philips Zenition 10 (ฟิลิปส์ เซนนิชั่น เท็น) เสริมทัพพอร์ทโฟลิโอในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Philips Image Guided Therapy ด้วยเครื่อง Mobile C-arm System 1000 รุ่นล่าสุด ที่เน้นเรื่องความคุ้มค่า คุณภาพสูง และตอบโจทย์ทางการแพทย์ด้านศัลยกรรม ในงานประชุมวิชาการราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
Philips Zenition 10 เป็นเครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปเคลื่อนที่แบบซีอาร์มรุ่นล่าสุดในตระกูล Zenition Mobile C-Arm (เซนนิชั่น โมบายล์ ซีอาร์ม) มาพร้อมชุดรับสัญญาณภาพแบบดิจิตอลชนิดแบนราบ เทคโนโลยีเฉพาะของฟิลิปส์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาทั้งแบบศัลยกรรมผ่าตัดทั่วไปและการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้องได้มากขึ้น นอกจากนี้ Philips Zenition 10 ยังมาพร้อมราคาที่คุ้มค่า ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายลดลง เพื่อผลลัพธ์ในการดูแลรักษาที่ดีขึ้น
Philips Zenition 10 สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก มีระบบไฟที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเคลื่อนย้ายจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง โดยไม่ต้องรีบูทเครื่องใหม่ ซีอาร์มของ Philips Zenition 10 ออกแบบมาให้มีระยะความลึกที่มากขึ้น ทำให้สามารถเคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วย เพื่อทำหัตถการบริเวณอวัยวะที่ต้องการได้สะดวกมากขึ้น และมีเทคโนโลยี Philips BodySmart ซึ่งสามารถกำหนดการปล่อยรังสีในปริมาณที่เหมาะสม และโหมดการทำงานรังสีต่ำ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเด็ก
ด้วยโปรแกรมการสร้างโปรโตคอลจำเฉพาะต่ออวัยวะที่ต้องการทำหัตถการใน Phiilips Zenition 10 ทำให้ได้ภาพคมชัดอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถสร้างหรือกำหนดโปรไฟล์ในการบันทึกของแพทย์หรือผู้ใช้งานแต่ละท่าน ซึ่งโปรไฟล์ที่ตั้งค่าและบันทึกไว้จะถูกเรียกขึ้นมาอัตโนมัติเมื่อผู้ใช้ท่านนั้นล็อกอินเข้าใช้งาน Philips Zenition 10 นอกจากโซลูชั่นสำหรับศัลยกรรมผ่าตัดทั่วไปแล้ว ยังสามารถรองรับด้านศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมแผลบาดเจ็บ และศัลยกรรมด้านอื่นๆ มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่ง่าย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเรียนรู้การใช้เครื่องได้อย่างรวดเร็ว และลดเวลาในการฝึกอบรมได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กุลพัชร จุลสำลี ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ปัจจุบันจำนวนแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2,900 คน โดยในแต่ละปีจะมีบันฑิตแพทย์ที่เรียนจบเฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ ประมาณ 145 คนซึ่งครึ่งหนึ่งของแพทย์เหล่านี้จะประจำอยู่ในพื้นที่ภายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนที่เหลือจะกระจายอยู่ในแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะประจำอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ในระดับเขตอำเภอยังถือว่าขาดแคลนแพทย์ออร์โธปิดิกส์อยู่ เมื่อมีผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาเฉพาะทางด้านนี้จึงมักถูกส่งตัวเข้ามาที่โรงพยาบาลส่วนกลาง ส่งผลให้แพทย์มีภาระงานเพิ่มขึ้นได้ สำหรับ Workload ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉลี่ยในการตรวจผู้ป่วยนอก (Out-Patient Department: OPD) จะมีการตรวจอยู่ที่ประมาณ 40-50 รายต่อวัน และอาจสูงถึง 60-80 รายต่อวันได้สำหรับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ปัญหาเรื่องของภาระงานที่เกินกำลังของแพทย์นี้ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในปัจจุบัน”
“ในส่วนของกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษากับแพทย์ออร์โธปิดิกส์จะมีอยู่ 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มความเสื่อมของกระดูกและข้อต่อที่เกิดจากอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะเพศหญิงที่จะมีปริมาณฮอร์โมนลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อมวลกระดูก และ 2. คือกลุ่มที่เกิดจากอุบัติเหตุซึ่งมีผู้ป่วยหลากหลายวัยและไม่สามารถประมาณการณ์ได้ และเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว จึงคาดการณ์ได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีปัจจัยมาจากความเสื่อมของร่างกายอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตเช่นกัน การส่งเสริมความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพเพื่อช่วยชะลอภาวะเสื่อมจึงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของแพทย์ออร์โธปิดิกส์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การทำงานก็จะยิ่งช่วยเสริมให้แพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“เพราะหลักการของการผ่าตัดของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คือการจัดแนวกระดูกที่ผิดรูปไปให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เทคโนโลยีที่สำคัญคือเอกซเรย์ที่มีประสิทธิภาพ ภาพถ่ายรังสีควรมีความชัดเจน สามารถถ่ายภาพผู้ป่วยได้จากหลากหลายมุมเพื่อเข้าถึงอวัยวะต่างๆ เพื่อช่วยให้แพทย์ประเมินการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและลดความผิดพลาด ผู้ป่วยเองก็จะได้ประโยชน์จากจุดนี้ด้วย อีกทั้งการใช้งานเครื่องควรมีความง่ายไม่ซับซ้อน กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพรังสีที่มีประสิทธิภาพ คือหัวใจสำคัญของการทำงานสำหรับแพทย์ออร์โธปิดิกส์อย่างแท้จริง” ผศ.นพ.กุลพัชร กล่าวทิ้งท้าย
Philips Zenition 10 คือเทคโนโลยีในกลุ่ม Image Guided Therapy (IGT) ล่าสุดของฟิลิปส์ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในห้องผ่าตัด และปรับปรุงผลลัพธ์ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น เพราะภาพถ่ายรังสีคือหัวใจสำคัญของแพทย์ที่ใช้เป็นข้อมูลในการประเมินอาการและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น