พันธมิตรองค์กรธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

By / 2 years ago / News / No Comments
พันธมิตรองค์กรธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ผนึกกำลังพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในพื้นที่มาบตาพุด

พันธมิตรองค์กรภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาเพื่อพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” อันประกอบด้วยกลุ่มองค์กรพันธมิตรที่ร่วมลงนามในพิธีการที่จัดผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) , บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด , บริษัท โอซาก้า แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) , บริษัท คันไซ อิเลกทริค เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมี ประธานกรรมการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมเป็นสักขีพยานภายในงาน นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก มร.นาชิดะ คาสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำราชอาณาจักรไทย ร่วมแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

            ทั้งนี้ แต่ละภาคส่วนที่ลงนามความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาเพื่อพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” จะทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเดินหน้าบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาดประเภทต่างๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ ตลอดจนการคมนาคมที่ลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่โดยรอบ ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่การผลิต การใช้ และการจัดเก็บ รวมถึงการพัฒนาโครงการสาธิตการใช้พลังงานไฮโดรเจนในพื้นที่มาบตาพุด ตลอดจนการผลักดันให้มีการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งรวมไปถึงรถยนต์ประเภทเซลล์เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน อีกทั้งยังจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการพลังงาน

            สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ปัจจุบันจึงเกิดความพยายามมากมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของพลังงาน ตั้งแต่การผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง และการใช้พลังงาน นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานที่หลากหลายเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนได้หลากหลายประเภทมากที่สุด

            ในบริบทนี้ ถือได้ว่าไฮโดรเจนมีศักยภาพสูงเพราะสามารถผลิตขึ้นได้จากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนหลากหลายประเภท เช่น พลังงานชีวมวล นอกจากนี้ การจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจนเหลวยังสามารถทำได้ง่ายกว่าพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย และหลังจากที่นำเอาไฮโดรเจนไปผลิตไฟฟ้าแล้วก็มีแค่น้ำเท่านั้นที่ถูกปล่อยออกมา โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะได้รับจากความร่วมมือในการศึกษาครั้งนี้คือการระบุชี้ชัดให้ได้ว่าไฮโดรเจนและพลังงานสะอาดอื่นๆ มีประโยชน์และอุปสรรคใดบ้างที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานในอนาคต ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้จะผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศของพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อมุ่งลดคาร์บอนตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่การผลิต การจัดการ การใช้ และการขนส่ง

            นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่รัฐบาลไทยได้กำหนดไว้เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคหน้าผ่านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันวิสัยทัศน์นี้ต่อไป

          นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า “จากวิสัยทัศน์ของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้ประเทศไทยสนับสนุนการลงทุนและโครงการต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนเป็นศูนย์และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ โดยเราหวังว่าโครงการความร่วมมือนี้จะเป็นต้นแบบเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จในระดับชาติต่อไป”

          “ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำทั่วโลกผ่าน “กลยุทธ์การส่งเสริมระบบโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ 2025” (Infrastructure System Overseas Promotion Strategy 2025) และ “กลยุทธ์การเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์” (Green Growth Strategy Through Achieving Carbon Neutrality) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในครั้งนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานพลังงานคุณภาพสูงในต่างประเทศ” (Feasibility Study On the Overseas Deployment of Highquality Energy Infrastructure) ซึ่งนับได้ว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานของทั้งสองประเทศ

            มร.นาชิดะ คาสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ว่า “ผมรู้สึกภูมิใจที่ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่และเป็นมิตรแท้ของประเทศไทย จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความเป็นกลางด้านคาร์บอนของประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรม ผมมีความคาดหวังอย่างมากสำหรับอนาคตของความเป็นกลางด้านคาร์บอนของทั้งญี่ปุ่นและไทย การลดคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซไฮโดรเจนในภูมิภาคอาเซียนที่มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศไทย”

            มร.โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทนของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสายสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น และในฐานะที่เป็นหนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ เราขอใช้ทักษะความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญอีกแห่งของโลก”

          นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนของบริษัทไทยที่ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กล่าวว่า “ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมด้านพลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาด้านพลังงานทั่วโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของ ปตท. ในการพัฒนาธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน สอดคล้องไปกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในปัจจุบันที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนซึ่งยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างมาก เราเชื่อว่าการที่เราร่วมมือเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในครั้งนี้จะทำให้ค้นพบวิธีการบริหารจัดการเทคโนโลยีพลังงานสะอาดขั้นสูงในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจะผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนปูทางไปสู่การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน”

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว และอาเธอร์ ดี. ลิตเติล ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ร่วมประสานงาน จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อระบุรายละเอียดความร่วมมือเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้เพื่อมุ่งผลักดันโครงการให้ประสบผลสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าพัฒนาสู่การเป็นสังคมที่ยั่งยืนต่อไป